ใครไปเที่ยวนารา (Nara) ครั้งแรก ตามโคอาล่ามาเลย! จะพาไปดูว่าเดินยังไง ไปไหนดี?

การเดินทางไปเมืองนารา (จากโอซาก้า)

บอกก่อนว่าตอนวางแผน กะไม่ใช้ Kansai Thru Pass อยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้ม เนื่องจากการเดินทางในเมืองนารา ส่วนมากจะเป็นรถเมล์มากกว่า (แต่เราเดินเอาซะส่วนใหญ่) จากสถานี Nippombashi ในโอซาก้า ให้มองหาป้ายสาย Kintetsu แบบนี้ (ไม่ต้องออกนอกสถานีนะ) ลงไปก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของสาย Kintetsu ที่จะมุ่งหน้าไป Nara 

(สาย Kintetsu ไม่ต้องเดินออกจากสถานี แค่เดินเปลี่ยนสายเฉยๆ)

(จาก Nippombashi ไป Nara นั่งสุดสายเลย)

รู้จัก Kintetsu Rail Pass สุดคุ้ม!

เนื่องจากครั้งล่าสุด เราไปพักที่เกียวโต แล้วต้องการไปนาราด้วย เลยมาเจอกับ Pass อีกแบบที่ไว้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ท่องเที่ยวในโซน Osaka-Kyot-Nara

Kintetsu Rail Pass มีทั้งหมด 3 แบบ

  • 1 วัน (1,500 เยน/750 เยน *เด็ก) สามารถใช้นั่งรถบัส และรถไฟได้ในโซนที่กำหนดรายละเอียด

  • 2 วัน (2,500 เยน/1,250 เยน *เด็ก) สามารถใช้นั่งรถบัส และรถไฟได้ในโซนที่กำหนด โดยแบบ 2 วันจะใช้เดินทางได้ในบริเวณกว้างกว่า (รายละเอียด)

  • 5 วัน (3,600 เยน/1,800 เยน *เด็ก) สามารถใช้นั่งรถบัส และรถไฟได้ในโซนที่กำหนด
    โดยแบบนี้จะสามารถใช้เดินทางไปได้ทั้ง Osaka-Kyot-Nara-Nagoya-Mie (Ise-Shima) (รายละเอียด)

ของเราซื้อมาแบบ 1 Day เพราะใช้แค่วันเดียวเดินทางไป-กลับจากเกียวโต ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะได้ใช้นั่งรถบัสในเมืองนาราด้วย

ส่วนใครที่ไม่อยากซื้อ Pass แบบระหว่างเมือง ก็จะมีให้ซื้อเป็น Bus Pass เฉพาะใช้นั่งบัสในเมืองนาราอย่างเดียว

ประเภท Bus Pass ในเมือง Nara

screenshot-www.narakotsu.co.jp-2018-01-05-17-54-28-257

  1. 1-Day Pass (ใช้ได้วันเดียว เที่ยวได้รอบๆ จุดสำคัญๆ)
    ผู้ใหญ่: 500 yen   เด็ก: 250 yen
  2. 1-Day Pass Wide (ครอบคลุมพื้นที่ในข้อ 1 และตีวงกว้างออกไปจากตัวเมืองอีก)
    ผู้ใหญ่: 1,000 yen   เด็ก: 500 yen
  3. 2-Day Pass (ใช้ได้ 2 วัน และตีวงกว้างขึ้นไปอีก)
    ผู้ใหญ่: 1,500 yen   เด็ก: 750 yen

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และโหลดแผนที่พร้อมแหล่งท่องเที่ยวในเมืองนาราได้ ที่นี่ เลย
ซื้อได้ที่ไหน?  มีขาย 2 ที่คือ JR Nara Station และ Kintetsu Nara Station

Welcome to Nara
พอมาถึงสถานี เราจะพบกับความกวาง กวาง และกวาง ทั่วไปหมดดดด ที่นี่จะมีน้อง “ชิคะมาโระคุง” เป็นมาสคอตประจำเมือง (กับอีกมาสคอตที่เป็นเด็กแล้วมีเขากวาง)

ฝาท่อเมืองนารา นี่ถ้าสีไม่ซีดคงสวยน่าดู

จากสถานี Kintetsu-Nara ถ้าเดินมาเรื่อยๆ เราจะผ่าน Kofukuji Temple ก่อนเลย ไฮไลท์คือ “เจดีย์ 5 ชั้น”

Kofukuji Temple

ด้านนอกเปิดตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนโถง และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ (9:00-17:00)

เราแวะเข้าไปดูเฉยๆ ไม่ได้เสียเงินเข้าไปด้านในนะ เอาบรรยากาศมาฝาก

สอยเครื่องรางความรักไปฝากเพื่อนสาว

นักสะสมขวดโค้กประจำเมืองอย่างเรา ไม่พลาด!

ออกจาก Kofukuji มาก็เดินต่อไป เพื่อไปไฮไลท์สุด ใครมานารา ก็ต้องไป นั่นคือ Todaiji Temple หรือที่คนไทยเรียก “วัดพระใหญ่” นั่นเอง (ถ้าดูจากแผนที่ จุดเริ่มต้นจะอยู่ที่สถานี Kintetsu-Nara สามารถเดินชมเมืองเรื่อยๆ เล่นกับกวาง ไปเรื่อยๆ จนถึงวัดได้เลย)

screenshot-www.google.co.th-2018-01-04-21-15-45-009

Todaiji Temple

ค่าเข้า Daibutsuden Hall (องค์พระใหญ่): 600 yen
เวลาเปิด-ปิด: “November – March: 8:00 a.m. – 5:00 p.m./April – October: 7:30 a.m. – 5:30 p.m.”
วิธีเดิน: ขึ้นมาจากสถานี Kintentsu-Nara จะเห็นแฟมิลี่มาร์ท ให้เดินไปตามทางนั้นเลยยาวๆ จนเจออุโมงค์ ก็เดินลอดอุโมงค์ไปได้เลย ซักพักจะเจอร้านขายไอติม และ Nara National Museum ทางขวามือ (นี่ก็แวะกินไอติมก่อน) เสร็จแล้วเดินต่อไปอีกนิดกก็จะเจอสี่แยก ให้ข้ามถนนไปทางซ้าย เดินไปเรื่อยๆ ก็เป็นทางเข้า Todaiji แล้ว (คนเยอะมากจุดนี้ ไม่ต้องกลัวหลง)

ต้องเดินผ่านอุโมงค์นี้

พ้นอุโมงค์มา ก็เดินตามทางไปเรื่อยๆ

เดินมาเจอสี่แยกนี้ ข้ามไปก็จะเป็นทางเข้าวัด Todaiji แล้ว

ประตู Nandai-mon หรือ South  Gate ทางเข้าวัด Todaiji

Tip: ตรงสี่แยกก่อนข้ามมาจะมีร้าน かすが茶屋 อยู่ทางขวามือ เป็นเหมือนป้อมเล็กๆ แต่เป็นร้านอาหาร ซึ่งเราแวะกินตอนออกมาจากวัดแล้ว รสชาติก็โอเคนะ เป็นร้านให้กดเลือกเมนูจากตู้ก่อน เสร็จแล้วส่งตั๋วให้พนักงาน รออาหารที่โต๊ะได้เลย (แถวนั้นกวางเยอะ นั่งๆ อยู่กวางจะเดินมากระแทกประตูบ้าง ไม่ก็เอาจมูกแตะเพื่อเปิดประตูเองบ้าง อยู่เป็นจริงๆ)


กลับมาที่วัด Todaiji ของเรากัน จากที่หาข้อมูลมา ในบริเวณวัด Todaiji นั้นจริงๆ มีหลายส่วนที่เปิดให้เข้าชม แต่เราอยากไปที่อื่นต่อด้วย ก็เลยเข้าไปดูแค่ส่วน Daibutsuden Hall (พระใหญ่) เสียค่าเข้าคนละ 600 yen ด้านในก็จะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่มากๆ (บนตั๋วจะมีบอกขนาดของ Hall และขนาดของพระพุทธรูปไว้ด้วยล่ะ)


เดินวนไปจะมีเสานึงใน Hall ที่มีรูที่ขนาดเท่ากับรูจมูกขององค์พระใหญ่ และเชื่อว่าถ้าใครสามารถบีบตัวเองให้ผ่านลอดรูนี้ไปได้ ชาติหน้าจะมีชีวิตที่ดี (ตอนไปมีคุณครูพาเด็กน้อยมา ก็ต่อแถวลอดกันสนุกสนาน ผู้ใหญ่ตัวใหญ่ๆ อย่างเราอย่าได้ลองเชียวค่ะคุณ อาจจะมีติดแหง่ก จนออกไม่ได้ 55)
DSC00785

ก่อนออกจาก Hall เราจะโดนดักด้วยมุมเครื่องราง และของที่ระลึกทั้งหลาย (นี่ก็โดน ซื้อมาหลายอย่างอยู่) พอออกมาจาก Hall แล้ว ก่อนลงบันได้ทางซ้ายมือจะมีรูปแกะสลักไม้ Binzuru (Pindola Bharadvaja) อยู่ สังเกตว่าจะมีเสื้อฝนสีแดงคลุมอยู่ (คิดเองว่าเป็นเสื้อฝนนะ..)
ลองอ่านแผ่นป้ายดูเค้าบอกว่าในญี่ปุ่นเชื่อกันว่า ถ้าเราเจ็บป่วยตรงส่วนไหนของร่างกาย ให้ลูบที่ส่วนนั้นของท่าน แล้วมาลูบส่วนที่เราเจ็บป่วยอีกครั้ง เชื่อกันว่าโรคภัย หรือความเจ็บป่วยนั้นจะหายไป

ก่อนออกจากบริเวณ Hall ย๊างงงง จะโดนดักด้วยตู้กดเหรียญที่ระลึกของเมืองนารา (มันวิบวับเหลือเกิน) นี่ไม่รอช้า กดมาเหรียญนึง (400 yen) และข้างๆ ยังมีอีกตู้ ให้เราเอาเหรียญที่กดมา ปั๊มข้อความบนเหรียญได้ด้วย! (เสียค่าปั๊ม 30 yen) นี่ก็ไม่รอช้า ตกเป็นเหยื่ออย่างทันที ปั๊มเป็นที่ระลึกว่ามากับน้อง
*เป็นที่มาของภาพแรกด้านบน เสียเงินกดมาแล้ว จัดการวางเหรียญถ่ายรูปในป่าสวยๆ ไป อิๆ

“กวาง” ที่นารา
จั่วหัวไปว่า “เดินยังไง ให้เจอกวาง?” — จริงๆ ตั้งแต่ขึ้นมาจากสถานีแล้วเดินมาหน่อย ก็เจอแล้ว 55 ต้องบอกว่า “เดินยังไง ไม่ให้เจอกวาง” มากกว่า (เพราะงั้นไม่ต้องกลัวเลยว่า เราจะได้เล่นกับกวางมั้ยน้าาา) ตามประวัติที่อ่านมา ตั้งแต่สมัยสร้างเมือง เจ้าเมืองก็ได้อัญเชิญเทพมาสถิตย์ประจำเมือง ซึ่งบังเอิญว่าเหล่าเทพนี้เชื่อกันว่ามีกวางเป็นผู้นำสาร (Messengers of  the Gods) ทำให้แต่นั้นมาชาวเมืองก็ให้ความเคารพ เอ็นดูน้องกวางมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเรามาถึงนาราแล้ว ทุกอย่างจะเป็นกวางไปหมด บนถนนก็จะมีป้ายระวังกวาง ตามสวน กวางก็จะนอน กิน วิ่งฟัดกันอย่างไม่ปรานี

ใครพูดถึงผมครับ

แบมบี้ในความทรงจำวัยเด็ก

รอกินขนมครับ ซื้อให้หน่อย


ซุ้มขายเซมเบ้กวาง (150 yen) ก็จะมีอยู่เรื่อยๆ ซึ่งกวางจะรู้ดีมาก มายืนรอ ยืนเฝ้า และเมื่อไรที่เห็นว่าเรามีขนม หรืของกินในมือ ก็จะพากันวิ่งมารุมล้อม ต้องระวังให้ดีนะ เอาจริงๆ กวางตัวใหญ่อยู่ บางทีมันกระโดด หรือชนนี่อาจมีล้มได้ (ใครพาเด็กน้อย หรือคนแก่ไป ก็ช่วยกันระวังด้วยเน้อออ)

Tips: เล่นกับกวางยังไง ไม่ให้เจ็บตัว?
  1. อย่ายืนหลังกวาง เพราะถ้ามันดีดขึ้นมา มีเจ็บตัวแน่นอน
  2. กวางไม่ใช่หมาที่บ้าน อย่าพยายามเข้าไปคลอเคลีย หรือกอดมาก ถ้ามันอารมณ์ไม่ดี จะยุ่งเอา
  3. ถ้าเจอกวางฟัดกัน รีบหนีให้ห่างเลย อาจโดนลูกหลงได้
  4. กวางที่นี่ “เป็นงาน” สามารถโค้งคำนับเราได้ ถ้ามีขนมในมือ
  5. ขนมเซมเบ้กวางจะมีกระดาษเขียวๆ พันมา ซึ่งคนขายบอกว่าทำมาจากหมึกถั่วเหลือง ดังนั้นสามารถให้กวางกินได้เลย
  6. ระหว่างถ่ายรูป หรือให้ขนมกวาง ระวังกระเป๋า ชายเสื้อ ผ้าพันคอ หรือพวกกระดาษที่เสียบไว้ตามกระเป๋าให้ดี เพราะกวางจะชอบเข้ามาดมๆ บางทีก็เคี้ยวกระดาษ และผ้าพันคอไปเลยก็มี
  7. พยายามอย่าให้ของกินอย่างอื่นที่ไม่ใช่เซมเบ้สำหรับกวาง
เอาล่ะ หลังจากแวะเล่นกับกวางไปแล้ว ก็ได้เวลาไปจุดหมายถัดไปของเรากัน

Kasuga-Taisha

เวลาเปิด-ปิด: April – September:  6:00 – 18:00/October – March:  6:30 – 17:00
ค่าเข้าศาลเจ้าด้านใน: 500 yen
วิธีเดิน (จากวัด Todaiji): เราเดินออกมาทางเดิม (กลับมาทีสี่แยก ที่มีร้านอาหาร かすが茶屋)
หันหน้าให้ร้านอาหารอยู่ขวามือเรา มองไปด้านหน้าจะมีทางเดินที่เหมือนเดินเข้าสวน นั่นแหละค่ะ ทางเดินไป Kasuga-Taisha เดินแรกๆ อาจจะไม่มั่นใจ แต่ไม่ต้องห่วง เดินไปเรื่อยๆ จะเริ่มเห็นตะเกียงหินวางเรียงรายสองฝั่ง แสดงว่ามาถูกทางแล้ว!
screenshot-www.google.co.th-2018-01-05-15-38-22-162

ศาลเจ้าคู่เมืองนารา สร้างมาพร้อมๆ กับเมืองเลยก็ว่าได้ ขึ้นชื่อเรื่องของ “ตะเกียง” ที่มีมากกว่า 3,000 อัน (เค้าเรียกว่าอันมั้ย ไม่แน่ใจ) โดยเฉพาะตะเกียงหินที่วางเรียงรายตั้งแต่ทางเข้าสวนนาราเลย ไปจนถึงด้านในศาลเจ้า ขอบอกว่าได้บรรยากาศขลังๆ ปนมนต์เสน่ห์ของป่าบริเวณรอบๆ มาก เข้าไปถึงศาลเจ้า ถ้าจะเข้าไปชมชั้นในของศาล จะต้องเสียค่าเข้า (เราไม่ได้เข้าไปนะ)

โทริอิตรงทางเข้า แต่จริงๆ ต้องเดินเข้าไปอีกกว่าจะถึงศาล




นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ศาล ก็จะมีศาลเล็กๆ กระจายอยู่ ไอเราก็เดินไปเรื่อยๆ ตามน้องๆ นักเรียนกลุ่มข้างหน้าไป ไปเจอศาลที่น่าจะขึ้นชื่อด้านความรัก พร้อมกับมีบ่อน้ำ (อารมณ์เสี่ยงทายรัก) อยู่ด้วย ลองดูจากแมพ ศาลนี้น่าจะเป็น Wakamiya Shrine

จ่าย 300 yen เอากระดาษไปทำให้เปียกในบ่อ เพื่ออ่านคำทำนาย

ซื้อแผ่นไม้มาเขียนขอพรความรักก็ได้เช่นกัน

หลังจากนั้นก็เดินลัดเลาะป่าไปเรื่อยๆ ไปออกสู่ถนนอีกครั้ง ตอนนี้พอดีเปิดแมพดูแล้วเห็นว่ามีศาลเจ้าอยู่ไม่ไกลนี่นา เลยเดินๆ ตามแมพไปเรื่อยอยู่พักนึง ก็เจอศาลเล็กๆ คือ Fuku-in Temple, Shin-Yakushi-ji Temple ซึ่งไม่มีอะไรมากเท่าไร จริงๆ เดินบริเวณบ้านคนก็โคตรรรรเงียบเลย ดีที่ยังสว่างอยู่ แอบกลัวด้วยมากันสองคนผู้หญิง แล้วแทบไม่มีคนเดินผ่านเลย

อย่าชนหนูเลย

เสาบอกทางที่ถ้าไม่สังเกตก็จะเดินผ่านไป…

มีอยู่เป็นระยะๆ ต้องมองดีๆ

Shin-Yakushi-Ji Shrine มีส่วนด้านในที่ต้องเสียเงินเข้าชม เราไม่ได้เข้าไป

พอหลุดจากซอกหลืบมาได้ ก็มาเจอป้ายรถเมล์พอดี (สถานี N9) แล้วก็ค้นพบว่าจริงๆ มันมีทางเข้าอีกทาง ที่มีป้ายบอกไว้แล้ว (ซึ่งน่าจะเดินถึงเร็วกว่าทางที่เราเดินมาด้วย  55) ใครอยากไปสัมผัสก็จำสถานี N9 ไว้ดีๆ

จากตรงนี้เรานั่งรถเมล์กลับไปที่ Kintetsu-Nara Station ค่ารถ 210 yen
ที่ป้ายดีมาก มีแปะไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเลย บอกเลยว่าทุกคันผ่านสถานี JR Nara และ Kintetsu-Nara หมด นั่งได้อย่างสบายใจ
*รถเมล์เป็นแบบขึ้นประตูหลัง ลงประตูหน้า และจ่ายเงินตอนลง

หลังจากกลับมาที่สถานีแล้ว ก่อนกลับเราก็เดินย้อนไปทางแฟมิลี่มาร์ท เลยไปหน่อยจะมีร้านขายของขึ้นชื่อของนาราอย่างนึง “ซูชิห่อใบพลับ” (Kakinoha Sushi) นั่นเอง ชอบอ่ะ ติดใจเลยซื้อกลับมาด้วยกล่องนึง ในนั้นจะมีหน้าปลาแซลมอน ปลาซาบะ และปลาอะไรอีกอย่างไม่แน่ใจ อารมณ์จะเหมือนซูชิที่ผ่านการดองมาแล้ว ทั้งปลาและข้าว เวลากินก็ไม่มีวาซาบิ หรือโชยุอะไรทั้งนั้น ในกล่องจะมีซองเขียวๆ มาให้ด้วย เป็นทิชชู่เปียกไว้ให้เราเช็ดมือนั่นเอง (ใส่ใจในรายละเอียด ชอบๆ)


Kintetsu-Nara Station

กลับมาที่สถานีอีกครั้ง จะมีซอยที่เป็นร้านอาหาร ของฝาก และแหล่งช้อปอยู่ (มี Daiso ใหญ่ด้วย) ใครไม่อยากซื้อระหว่างทางเดินเที่ยวในเมือง ก็มาแวะซื้อทีเดียวตอนกลับก็ได้นะ
แนะนำร้าน Fujin
ร้านนี้ได้แวะกินตอนขามา (อยู่ตรงทางเข้าซอยเนี่ยแหละ) คือเรามาถึงค่อนข้างเช้า ทำให้ร้านอาหารส่วนมากยังไม่เปิดจ้าาา มีร้านนี้ที่เปิดพอดี (อยู่ชั้น 2) ก็เลยจัดเลย ได้เจอกับอาหารที่อยากกินคือแบบ Ochazuke คืออารมณ์ข้าวหน้าต่างๆ แล้วจะมีกาน้ำซุปมาให้ราดกินเป็นข้าวต้มได้ด้วยน่ะ รสชาติใช้ได้ บริการดีอยู่ บรรยากาศเงียบๆ
จบแล้วววว รู้สึก blog นี้รูปโคตรเยอะเลยยยย แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่คิดจะไปเที่ยว Nara เนาะ ชอบใจฝากตามไปกด LIKE เพจเค้าด้วยน้า >> บันทึกโคอาล่า